Russian Socialist Federative Soviet Republic (-)

สหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย (-)

สหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซียเป็นประเทศสังคมนิยมของกรรมกรและชาวนาซึ่งสถาปนาขึ้นหลังรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* เป็นนายกรัฐมนตรีถูกโค่นอำนาจลงในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลโซเวียตซึ่งพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* คุมเสียงข้างมากได้จัดพื้นที่ส่วนใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซียเข้าไว้ในการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้ชื่อสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซียเมื่อรัฐบาลโซเวียตจัดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๓ (Third All-Russian Congress of Soviets) ขึ้นระหว่างวันที่ ๘-๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อประเทศและรูปแบบการปกครองของจักรวรรดิรัสเซียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๒ รัฐโซเวียตใหม่ซึ่งได้ดินแดนเพิ่มเติมได้ปรับโครงสร้างของดินแดนและการปกครองโดยสถาปนาเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics-USSR) หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า สหภาพโซเวียต สหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซียซึ่งเป็นสาธารณรัฐโซเวียตใหญ่ที่สุดเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในจำนวน ๔ สาธารณรัฐโซเวียตที่รวมอยู่ในสหภาพโซเวียต

 หลังชัยชนะของการยึดอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคประกาศสร้างสังคมรัสเซียในแนวทางลัทธิมากซ์ (Marxism)* ด้วยการสถาปนาอำนาจรัฐสังคมนิยมแห่งชนชั้นกรรมาชีพ และปกครองในระบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ มีการประกาศจัดตั้งคณะรัฐบาลโซเวียตหรือคณะมนตรีคอมมิสซาร์ประชาชน (Soviet Council of People’s Commissars) ขึ้นเป็นองค์กรบริหารชั่วคราวโดยมีเลบินเป็นผู้นำ และมีรัฐมนตรีร่วมบริหารอีก ๑๔ คน ซึ่งเป็นสมาชิกบอลเชวิคทั้งหมด ผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงสำคัญ ๆ มีเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอะนาโตลี ลูนาชาร์สกี (Anatole Lunacharsky)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการด้านสัญชาติ (Commissar of Nationalities Affairs) เป็นต้น ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ มีการแต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มอีก ๗ ตำแหน่งเพราะสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* ปีกซ้ายซึ่งปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐบาลในช่วงแรกเปลี่ยนแปลงความคิดโดย เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

 งานสำคัญที่รัฐบาลโซเวียตเร่งดำเนินการคือ การถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และการจัดตั้งกองทัพแดง (Red Army)* ขึ้นเพื่อปกป้องอำนาจรัฐโซเวียตรวมทั้งการออกกฤษฎีกาสำคัญ ๒ ฉบับ คือ กฤษฎีกาที่ดินและกฤษฎีกาสันติภาพเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ กฤษฎีกาที่ดินเป็นการยึดโอนที่ดินของเอกชนเป็นของรัฐและนำมาจัดสรรให้แก่ชาวนา ส่วนกฤษฎีกาสันติภาพเป็นการวางหลักการของแนวนโยบายต่างประเทศที่เน้นนโยบายสันติภาพและการเคารพเอกราชและอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศกฤษฎีกาทั้ง ๒ ฉบับ มีส่วนทำให้รัฐบาลโซเวียตเป็นที่ยอมรับจากประชาชนมากขึ้น ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลโซเวียตก็ออกกฤษฎีกาที่สำคัญอีกฉบับหนึ่ง คือ คำประกาศว่าด้วยสิทธิของประชาชนรัสเซียในการเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (Declaration of Rights of People of Russia to Self-determination) โดยให้สิทธิความเสมอภาคแก่พลเมืองทุกชนชาติในจักรวรรดิรัสเซียในการเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเองอย่างอิสระทั้งสามารถแยกตัวออกและก่อตั้งเป็นรัฐเอกราชได้ ตลอดจนให้ชนกลุ่มน้อยและเผ่าชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนรัสเซียมีสิทธิในการพัฒนาตนเองอย่างเสรี นอกจากนี้ รัฐบาลโซเวียตยังประกาศนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชาติที่ถูกกดขี่ให้ได้เอกราชและสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมรวมทั้งขจัดการกดขี่และความไม่เสมอภาคทางประชาชาติให้หมดไป

 อย่างไรก็ตาม ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ พรรคบอลเชวิคได้เคลื่อนไหวให้มีการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) โดยมีกองทหารเรดการ์ด (Red Guard) สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แม้วิคตอร์ มีไฮโลวิช เชียร์นอฟ (Viktor Mikhailovich Chernov)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติซึ่งเป็นประธานของสภาร่างรัฐธรรมนูญจะพยายามต่อต้านแต่ก็ประสบความล้มเหลวเพราะมีการประกาศยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญในตอนเที่ยงคืนของวันที่ ๕ มกราคม และให้สภาโซเวียตทั่วรัสเซียปฏิบัติหน้าที่แทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ อีก ๓ วันต่อมา รัฐบาลโซเวียตก็จัดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๓ ขึ้น ระหว่างวันที่ ๘-๑๘ มกราคม ที่ประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิคมีมติเห็นชอบกับกฎหมายและกฤษฎีกาต่าง ๆ ที่รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศใช้ก่อนหน้านั้น และมีมติรับรองคณะรัฐบาลโซเวียตเป็นคณะรัฐบาลที่ชอบธรรมตามกฎหมายทั้งให้ตัดคำว่า “ชั่วคราว” ออก ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนรูปการปกครองของจักรวรรดิรัสเซียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซียและจัดตั้งคณะกรรมาธิการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นโดยมียาคอฟ สเวียร์ดลอฟ (Yakov Sverdlov)* เลขาธิการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เป็นประธาน

 หลังการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลโซเวียตเปิดการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งทำให้รัฐบาลโซเวียตถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สำเร็จพรรคเมนเชวิค (Mensheviks)* ซึ่งมียูลี มาร์ตอฟ (Yuly Martov)* เป็นผู้นำและกลุ่มปีกขวาของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ จึงร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญและการทำสนธิสัญญากับเยอรมนี กลุ่มการเมืองอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งกลุ่มนักธุรกิจนายทุนและเจ้าที่ดินตลอดจนปัญญาชนทั่วไปก็สนับสนุนการต่อต้านดังกล่าวทั้งเรียกร้องให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าแทรกแซงภายในจนนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)*

 ในช่วงที่สงครามกลางเมืองกำลังเริ่มขึ้นในภูมิภาคดอน (Don) ทางรัสเซียใต้ รัฐบาลโซเวียตก็ผลักดันการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นได้สำเร็จ และที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๕ ได้ให้การรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๑๘ อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ อีก ๙ วันต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายหลักของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยสถาปนารัฐเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นอย่างเป็นทางการ และคํ้าประกันสิทธิของประชาชนผูใช้แรงงานในการมีส่วนร่วมปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้จนถึง ค.ศ. ๑๙๒๔ ต่อมามีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อีก ๒ ครั้ง เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๒๔ และฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๖ ทั้ง ๒ ฉบับ ยึดกรอบและหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นแนวทาง นอกจากนี้ สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมอื่น ๆ ที่สถาปนาขึ้นในเวลาต่อมาก็ยึดหลักการและแนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นกรอบความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญของตน

 ในระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย รัฐบาลโซเวียตได้ให้การสนับสนุนทางการเงิน การทหาร และการเมืองแก่ชาวนาและกรรมกรในยูเครน (Ukraine) เบโลรัสเซีย (Byelorussia) และภูมิภาคบอลติกเพื่อต่อต้านเยอรมนีและฝ่ายรัสเซียขาว (White Russia) รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดการปกครองในรูปแบบโซเวียตขึ้น ต่อมามีการสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (Ukraine Soviet Socialist Republic) และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบโลรัสเซีย (Byelorussian Soviet Socialist Republic) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๐ และสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคเซีย (Transcaucasian Soviet Federative Socialist Republic) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan SSR) สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาร์เมเนีย (Armenia SSR) และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย (Georgia SSR) เมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ทั้ง ๓ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจึงขอรวมเข้ากับสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย

 เลนินเสนอให้จัดตั้งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตขึ้นโดยรวมสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ เช้าด้วยกันในทางการเมืองอย่างหลวม ๆ โดยแต่ละสาธารณรัฐโซเวียตต้องยอมรับอธิปไตยและสิทธิเสมอภาคของกันและกันรวมทั้งมีความเท่าเทียมกันตลอดจนสามารถแยกตัวออกจากสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตได้ แนวความคิดของเลนินจึงนำไปสู่การจัดทำร่างคำประกาศและความตกลงเรื่องการก่อตั้งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตขึ้นในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ ต่อมาที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วสหภาพโซเวียตครังที่ ๑ (First Congress of Soviets of the Union of the Soviet Socialist Republics) ได้จัดประชุมขึ้นที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ เพื่อพิจารณาเรื่องการก่อตั้งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต หลังการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางและดุเดือดที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบกับร่างคำประกาศและความตกลงเรื่องการตั้งสหภาพฯ ซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ๔ สาธารณรัฐ ทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลางของสาธารณรัฐร่วมสหภาพฯ ขึ้นโดยมีเลบินเป็นประธานกิตติมศักดิ์และมีฮาอิล คาลีนิน (Mikhail Kalinin)* เป็นประธาน คณะกรรมการบริหารกลางฯ ดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ซึ่งต่อมาที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั้วสหภาพโซเวียตครั้งที่ ๒ ได้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๒๔ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔

 รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๒๔ กำหนดโครงสร้างของสหภาพโซเวียตซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ รวม ๔ สาธารณรัฐคือ สหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียต สังคมนิยมรัสเซีย สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมยูเครนสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบโลรัสเซีย และสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคเซีย แต่ละสาธารณรัฐมีรัฐธรรมนูญของตนเองและมีอำนาจบริหารปกครองภายในสาธารณรัฐทุกด้านยกเว้นอำนาจสำคัญ ๆ ที่สงวนไว้ที่รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลสหภาพ ฯ คือการดำเนินนโยบายต่างประเทศ การประกาศสงครามและสันติภาพการป้องกันประเทศ การจัดทำงบประมาณแผ่นดินของสหภาพฯ การกำหนดระบบเงินตราและสินเชื่อ การจัดการเศรษฐกิจแห่งชาติและอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๓๖ มีการจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตอื่น ๆ ขึ้นในแถบเอเชียกลางประกอบด้วยเติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) และอุซเบกิสถาน (Uzbekistan) ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ทาจิกิสถาน (Tajikistan) ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ คาซัคสถาน (Kazakhstan) และคีร์กิซ (Kyrgyz) ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเหล่านี้เข้ารวมกับสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ในปีเดียวกันก็มีการประกาศยุบสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคเซียและแบ่งเขตแดนกันใหม่ให้กับสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมอาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย และจอร์เจีย

 การเข้าร่วมของสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ ทำให้ต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นในต้น ค.ศ. ๑๙๓๖ ซึ่งเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตก็ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ.๑๙๓๖ หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่ารัฐธรรมนูญฉบับสตาลินยังคงเน้นว่าสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเป็นรัฐสังคมนิยมของกรรมกรและชาวนาเป็นสหพันธรัฐที่ประกอบด้วยสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมที่มีความเสมอภาคกันรวม ๑๑ สาธารณรัฐ (ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เพิ่มขึ้นเป็น ๑๔ สาธารณรัฐ และต่อมาเพิ่มเป็น ๑๕ สาธารณรัฐ) โดยสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซียเป็นสาธารณรัฐใหญ่ที่สุด แต่ละสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมมีอำนาจอธิปไตยของตนเองและมีสิทธิในการแยกตัวออก รัฐบาลกลางที่กรุงมอสโกซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหภาพโซเวียตจะควบคุมนโยบายด้านการป้องกันประเทศนโยบายต่างประเทศ และงบประมาณ รัฐธรรมนูญบัญญัติว่ารากฐานเศรษฐกิจของสหพันธรัฐคือเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอำนาจทั้งมวลเป็นของประชาชนผู้ใช้แรงงานทั้งในเมืองและชนบทโดยมีสภาโซเวียตของผู้แทนประชาชนผู้ทำงานเป็นตัวแทนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนชื่อสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republic-RSFSR) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสาธารณรัฐโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Republic) ชื่อใหม่ดังกล่าวจึงเป็นชื่อทางการที่รู้จักกันทั่วไปในเวลาต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๑.



คำตั้ง
Russian Socialist Federative Soviet Republic
คำเทียบ
สหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย
คำสำคัญ
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- คณะมนตรีคอมมิสซาร์ประชาชน
- คาลีนิน, มีฮาอิล
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- โซเวียตยูเครน
- ตรอตสกี, เลออน
- บอลเชวิค
- ฝ่ายรัสเซียขาว
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคเมนเชวิค
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มาร์ตอฟ, ยูลี
- เมนเชวิค
- ยูเครน
- ลัทธิมากซ์
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-